แฟชั่นโชว์ Dior คอลเลกชั่น Women's Fall 2023 ณ มุมไบ ประเทศอินเดีย
แนวทางใหม่ในการสื่อถึงความรู้สึก และอารมณ์ต่างๆ ที่เรามีต่อประเทศใด ประเทศหนึ่ง รวมถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นของดินแดนนั้นได้อย่างแยบคาย คือสิ่งซึ่งมาเรีย กราเซีย คิวริต้องการนำเสนอผ่านผลงานสร้างสรรค์คอลเลกชันประจำฤดูใบไม้ร่วง 2023 ของ Dior พร้อมกันนั้น งานออกแบบในภาพรวม ยังต้องสามารถเล่าถึงเรื่องราวการร่วมงาน, ความเกี่ยวข้องในการทำงาน ตลอดจนมิตรภาพอันดำเนินอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีระหว่างห้องเสื้อ Dior กับประเทศอินเดีย และระหว่างตัวคิวริเองกับคาริชมา สวาลิ ผู้อำนวยการห้องเย็บปักชานาเกีย (Chanakya ateliers) และโรงเรียนหัตถศิลป์ชานาเกีย (Chanakya School of Craft) ในมุมไบ นครหลวงแห่งรัฐมหาราษฏระของอินเดีย
เพราะภายในแผนกต่างๆ ของทั้งอาเตอลิเอรงานปัก และสถาบันหัตถศิลป์แห่งนี้ หาได้ต่างอะไรจากสถานที่สำหรับทำการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้, แนวทางความคิด ควบคู่ไปกับดำเนินกระบวนการศึกษาเรียนรู้ รวมถึงการแสดงฝีมือ หรือความสามารถแขนงต่างๆ ของผู้หญิงทั้งหลายได้อย่างเสรีเต็มที่ และเต็มภาคภูมิ ที่นี่จึงเป็นเสมือนห้องทดลองของการใช้ไหวพริบพลิกแพลงทักษะ ความชำนาญแขนงต่างๆ ซึ่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์คอลเลกชันสตรีของ Dior นั้นเล็งเห็น และยกย่องคุณค่าอย่างต่อเนื่องมายาวนาน เฉกเช่นที่เคยเป็นกับนักออกแบบแฟชันผู้ก่อตั้งห้องเสื้อระดับตำนานแห่งนี้นั่นเอง
ระหว่างดำเนินการศึกษา ค้นคว้าภายในแผนกจัดเก็บข้อมูล และผลงานสำคัญทางประวัติศาสตร์ของ Dior (Dior archives) ได้มีการค้นพบหลักฐาน และเรื่องราวการเดินทางของมาร์ค โบฮัน (หรือมาร์ก โบอ็องตามคำอ่านฝรั่งเศส) ไปยังประเทศอินเดียเมื่อเดือนเมษายนปีค.ศ. 1962 อันประกอบไปด้วยมิติทรงเครื่องแต่งกายทั้งในวัฒนธรรมมุมไบ และเดลีมากมายถึงหนึ่งร้อยชุดโดยประมาณ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนเชิงสัมพันธ์ครั้งสำคัญระหว่างฝรั่งเศสกับอินเดีย เพราะในสายตาของมาร์ค โบฮัน ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของ Dior ในยุคนั้น การค้นพบรูปทรงโครงสร้างเสื้อผ้าแปลกตา และแปลกใหม่เหล่านี้ นำมาซึ่งช่องทางใหม่ในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าอีกระดับวัยที่อ่อนเยาว์ กระฉับกระเฉง เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง เป็นการนำแนวคิดร่วมสมัยมาใช้กับงานออกแบบแฟชัน ทั้งในส่วนของแผนกห้องเสื้อชั้นสูง และแผนกเสื้อผ้าสำเร็จรูป
จากข้อมูลที่ได้ค้นพบดังกล่าวเหล่านั้น มาเรีย กราเซีย คิวริได้เลือกเฉดสี และวัสดุต่างๆ อันล้วนสามารถสะท้อนถึงแรงบันดาลใจ และอิทธิพลจากการทำงานร่วมกับคาริชมา สวาลิ กระบวนการทำงานกับบรรดารูปทรงเสื้อผ้า ซึ่งสามารถสวมใส่ได้ทุกยุคสมัยโดยไม่อิงกระแสแฟชันนั้น เป็นเสมือนตัวช่วยให้ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ประจำแผนกเครื่องแต่งกายสตรี Dior ได้นำงานต้นแบบที่เธอชื่นชอบหลายชิ้นมารังสรรค์ขึ้นในรูปแบบที่เต็มไปด้วยความสดใหม่
ในส่วนของเฉดสี แต่ละเฉด แต่ละโทนล้วนผ่านการเลือก และจัดกลุ่มให้มีความเหมาะสมกับเนื้อสัมผัสของผ้าไหม ไม่ว่าจะเป็นหลากเฉดของสีเขียว, เหลือง, ชมพู และม่วง ต่างก็เป็นบทรำลึกถึงไหวพริบความเป็นเลิศของมาร์ค โบฮัน โดยมาปรากฏอย่างภูมิฐานอยู่บนมิติทรงโครงสร้างชุดของโคทกลางคืนตัวยาว, กระโปรงทรงตรง หรือกระโปรงผ้าทิ้ง ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากส่าหรี และงานตัดเย็บเครื่องแต่งกายแบบอินเดียตามธรรมเนียมดั้งเดิม รวมถึงกางเกงขาตรง, แจ็คเก็ตเอวลอยหรือโบเลโร (bolero), เสื้อนอกหลากสไตล์ที่ใช้สวมกับเสื้อแขนกุดตัวใน ทั้งหมดนี้ หาได้ต่างอะไรจากวงศาวิทยาทางการตัดเย็บอันผสมผสานขึ้นจากความหลากหลายทางมรดก และวัฒนธรรมแฟชันต่างขั้ว
สำหรับคอลเลกชันนี้ งานปักเป็นทั้งหัวข้อสำคัญ และความหมายแก่นแท้ของการศึกษาวิจัย เปิดหนทางเป็นไปได้นานับประการในการพัฒนางานฝีมือจนกลายเป็นกลไกยกย่องคุณค่าความหลากหลายทางภูมิทัศน์ของประเทศอินเดียภายใต้การร่วมงานอย่างใกล้ชิดระหว่าง Dior กับ Chanakya ateliers รวมถึงโรงเรียนหัตถศิลป์ Chanakya School of Craft ลายปัก และงานปักที่ปรากฏ จึงเป็นเสมือนเวทีระดม และยกย่องความเป็นเลิศเชิงเทคนิคต่างๆ ในกระบวนการทำงานของโรงเรียน อีกทั้งยังกลายเป็นหนทางของการสืบทอดพลังทางความคิดประดิษฐกรรม และมรดกงานฝีมือของผู้หญิงจากรุ่นสู่รุ่นในท้ายที่สุด
รูปทรงเรขาคณิตรองรับประกายระยิบระยับวับวาวของเลื่อมเงิน และทอง รวมถึงแก้วดีบุก ในขณะที่งานประดับลวดลายหลากสีสันสดใสเจิดจรัสสะกดสายตาเมื่อมาปรากฏบนผืนผ้าไหมซึ่งใช้ตัดเย็บเป็นเสื้อคลุมยาวแบบปิจามา หรือชุดคลุมนอน, เสื้อเชิ้ตทรงตรง และเดรสขนาดต่างๆ นอกจากนั้น ผ้าทอลายจิตรกรรมหรือตวล เธอ ฌูย์ (toile de Jouy) ก็กลับมาอีกครั้งด้วยลูกเล่นสีเขียวหลากเฉดจนดูเหมือนเป็นผ้าลายพราง ทว่าโดดเด่นเป็นเลิศกว่าที่เคยผ่านการสอดแทรกรายละเอียดเชิงทัศนียภาพตระการตาแบบอินเดีย โดยเฉพาะลวดลายสิงสาราสัตว์อันเป็นที่รักยิ่งในดินแดนพหุวัฒนธรรมแห่งนี้
คอลเลกชัน ซึ่งนำมาจัดแสดงในนครมุมไบ*ครั้งนี้ ถือเป็นบทอ้างอิงถึงความสอดคล้องทางวิสัยทัศน์ และค่านิยมร่วมของสองดินแดนต่างขั้ววัฒนธรรม ด้วยการทำงานร่วมกันระหว่าง Dior กับ Chanakya หนึ่งห้องเสื้อแฟชันฝรั่งเศส กับห้องเย็บปักหัตถศิลป์แบบฉบับอินเดีย กระบวนการแลกเปลี่ยนทางความคิดสร้างสรรค์จึงสามารถดำเนิน และสืบทอดอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับช่วยพัฒนาความเป็นเลิศให้แก่การใช้ไหวพริบพลิกแพลงทักษะ ความชำนาญล้ำค่าแขนงต่างๆ ให้คงอยู่ อีกทั้งยังเป็นการตอกย้ำซึ่งความผูกพันอันแน่นแฟ้น และมั่นคงตราบนิรันดร์ระหว่างฝรั่งเศสกับอินเดีย
*ด้วยการสนับสนุนจากคณะกรรมการอำนวยการสำนักงานท่องเที่ยวประจำรัฐมหาราษฏระ (Directorate of Tourism, Government of Maharashtra)