เป็นที่ทราบกันดีว่า สมาธิสั้นในเด็กเป็นโรคเกี่ยวกับพัฒนาการ ซึ่งอาการของโรคสมาธิสั้นในเด็กแต่ละคน จะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป โดยพฤติกรรมอย่างหนึ่งของเด็กสมาธิสั้น คือ ปัญหาเรื่องการควบคุมตัวเอง ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาเพียงน้อยนิดสำหรับบางครอบครัว แต่สำหรับบางครอบครัวแล้วจะไม่ปล่อยผ่าน ไม่เลี้ยงตามมีตามเกิด หรือเลี้ยงไปเรื่อย ๆ จนโต แล้วคิดเข้าข้างตัวเองว่า เมื่อโตแล้วลูกจะดีขึ้น เพราะเป็นเรื่องของอนาคตอันไกลโพ้น ที่คาดเดาไม่ได้แล้วจะดีกว่าไหมถ้าพ่อแม่ลงมือทำทุกอย่างให้ดีตั้งแต่วันนี้ เพื่อสร้างรากฐานชีวิตลูกให้แข็งแรง และให้เขาเติบโตขึ้นอย่างมีความสุขดังนั้น การเลี้ยงดูเด็กสมาธิสั้นที่บ้านของเราจึงมีเป้าหมาย คือ สอนให้ลูกสามารถควบคุมการกระทำ ความคิด และอารมณ์ของตนเอง มีความคิดยืดหยุ่น และมีเป้าหมายในชีวิตที่เขากำหนดด้วยตัวเอง ... และเป็นเรื่องบังเอิญที่น่าดีใจมาก เพราะศูนย์การศึกษาพิเศษ โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ ที่ลูกเคยเรียนอยู่นั้น ก็ใช้แนวทางนี้ในการพัฒนาเด็กพิเศษเช่นกันค่ะเหตุที่เราให้ความสำคัญในการเลี้ยงดูและรักษาลูกอย่างจริงจึง นั่นเพราะในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ได้มีโอกาสช่วยพ่อของลูกดูแลกิจการสอนพิเศษที่บ้าน จึงได้พบเห็นเด็กวันรุ่นหลากหลายรูปแบบมาหลายร้อยคน ทั้งเด็กเรียน เด็กเกเร และเด็กที่มีพฤติกรรมแตกต่างจากเด็กทั่วไป ซึ่งเวลานั้นเรายังไม่ทราบว่า เด็กคนนั้นมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคสมาธิสั้น รวมทั้งได้มีโอกาสรู้จักผู้ใหญ่ที่เป็นสมาธิสั้นจากการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น เราจึงได้บทสรุปกับตัวเองว่า ต้องพาลูกไปพบคุณหมอ กินยา ฝึกทักษะชีวิต และฝึกให้ลูกรู้จักการควบคุมตนเองตั้งแต่ช่วงชีวิตปฐมวัยสมัยที่เรายังไม่มีความรู้เรื่องโรคสมาธิสั้น เราพยายามหาเหตุผล หรือทำความเข้าใจว่า ทำไมผู้ใหญ่คนนี้ถึงหัวร้อนได้ง่าย ดุด่าคนอื่นแบบไม่ไว้หน้า บางคนลงไปไล่ตีกับคนที่ไม่รู้จักเพียงเพราะขับรถแซงกัน บางคนขี้ลืมในสิ่งที่ไม่ควรจะลืม บางคนเรียนจบแล้วไม่ทำงาน หรือทำงานอะไรก็ไม่ยั่งยืน รวมทั้งมีพฤติกรรมแปลก ๆ ซึ่งคนธรรมดาที่ควบคุมตัวเองได้ไม่ควรทำในสิ่งนั้น ... จนกระทั่งเราได้มาศึกษาเรื่องราวของโรคสมาธิสั้นในเด็กและผู้ใหญ่ จึงถึงบางอ้อ เข้าใจเลยว่า คนเหล่านั้นในอดีตเป็นเด็กสมาธิสั้นมาก่อน จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต ระบุว่า โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ1. ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นที่มีอาการมาตั้งแต่เด็กแต่ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่อาการของโรคจะถือว่าค่อนข้างอยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถใช้ชีวิตได้ปกติตามวัย แต่อาจจะมีอาการของโรคสมาธิสั้นหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง เช่น ขี้หงุดหงิด เครียดง่าย ขี้โมโห หรือมีเรื่องกับญาติพี่น้องและเพื่อนร่วมงาน ทำให้ต้องเปลี่ยนงานอยู่เรื่อย รวมทั้งอาจมีนิสัยชอบใช้จ่ายฟุ่มเฟือย แต่กรณีนี้มักจะสามารถควบคุมตนเองได้พอสมควร หรืออาจมีความคิดสร้างสรรค์ และสติปัญญาดีด้วยในบางคน2. ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นที่ไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องมาตั้งแต่เด็ก หรืออาจได้รับความกดดันจากผู้ใกล้ชิด ทำให้มีพัฒนาการที่ช้าลงเรื่อย ๆ จนกลายเป็นผู้มีอารมณ์ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน ต้องประคับประคองอาการผิดปกติเหล่านี้ด้วยยาเป็นประจำ แต่ก็ยังอยู่ในขอบข่ายที่ใช้ชีวิตในสังคมได้ เพียงแต่ควรต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ3. ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นที่ไม่รู้ตัวเองว่าเป็นโรค กรณีนี้ในวัยเด็กจะดูปกติและฉลาดสมวัย ทำให้ไม่มีใครฉุกคิดว่าพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น ก้าวร้าว อันธพาล ชอบความรุนแรง และไม่คิดก่อนทำของผู้ป่วยเป็นอาการของโรค แต่เข้าใจไปว่าเป็นแค่เพียงลักษณะนิสัยปกติเท่านั้น จนในที่สุดก็ไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง และอาจเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาชีวิต มีปัญหาการเข้าสังคม และไม่ประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงานเมื่ออ่านครบทั้ง 3 ข้อแล้ว หลายคนอาจจะเริ่มรู้สึกแล้วว่า ลูกคงสมาธิสั้นเหมือนตัวเอง หรือลูกคงสมาธิสั้นเหมือนใครสักคนในตระกูลของตัวเอง เพราะ 80% ของผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นมีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ รู้อย่างนี้แล้ว อาจจะทำให้พ่อแม่คงตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ในการนำลูกเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างจริงจัง เพื่อให้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีความปกติสุข แต่ถ้ายังตัดสินใจไม่ได้ เราขอแชร์กรณีศึกษาของผู้ใหญ่สมาธิสั้นที่ได้มีโอกาสรู้จัก ดังนี้ค่ะ • เด็กชายคนหนึ่งที่คุณแม่เล่าว่า สังเกตเห็นอาการซุกซนตั้งแต่เด็ก เล่นสนุกคนเดียวในสนาม เดินในชั้นเรียน จึงพาไปพบคุณหมอ ทานยา เล่นดนตรี หยุดกินยาช่วงประถมฯ ปัจจุบันเป็นนักเรียนผลการเรียนดี เตรียมจะเข้ามหาวิทยาลัย และรักแม่มาก• เด็กชายวัยรุ่นที่เจ้าตัวเล่าว่า แม่เคยพาไปหาหมอและทานยาช่วงวัยเด็ก เมื่อควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น จึงได้หยุดยา เป็นเด็กผลการเรียนดี ปัจจุบันเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรัฐบาลชื่อดัง รักแม่มากเช่นกัน• เด็กชายอายุ 20 ต้น ๆ จบ ป.ตรี จากมหาวิทยาลัยของรัฐ เกรดเฉลี่ย 3 กว่า ๆ และจบ ป.โท มหาวิทยาลัยของรัฐ พร้อมกับสอบเข้ารับราชการ และได้เงินเพิ่มพิเศษจากความสามารถด้านการใช้ภาษาอังกฤษ เจ้าตัวเล่าว่า ตอนเด็กไม่ได้ทานยา เพราะไม่ได้วุ่นวายมาก แม่ยอมรับในความเจ็บป่วย คอยฝากฝังคุณครูอนุบาล จนถึงประถมฯ มีแม่ที่คอยเชียร์ลูกเสมอ (แม่สายเชียร์เหมือนเรามาก) การใช้ชีวิตเหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไป ตอนเรียนมัธยมฯ และมหาวิทยาลัยไม่รู้สึกถึงความแปลกแยกว่าตัวเองเป็นเด็กสมาธิสั้น ปัจจุบันเป็นเด็กที่มีความสุขกับการทำงาน ขยัน ตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมาย และมีความฝันอื่น ๆ คือ เรียนต่อ ป.เอก เพื่อนำความรู้มาพัฒนาประเทศ• เด็กวันรุ่น เรียบร้อย แต่มีพฤติกรรมที่แปลกประหลาด คือ ทำบางสิ่งโดยที่ตัวเองก็ให้เหตุผลไม่ได้ว่าทำไปเพื่ออะไร ถูกเพื่อนล้อเลียนเสมอ พ่อแม่ไม่ยอมรับในความเจ็บป่วยของลูก สุดท้ายลูกไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่เหมาะกับเขา ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต• ผู้ใหญ่อายุย่าง 50 ปี ขี้ลืม หัวร้อน ไม่เคยยอมรับในความผิดพลาดของตัวเอง ทะเลาะกับคนในบ้านประจำ ทำอะไรมาเยอะมากแต่ไม่ประสบความสำเร็จสักอย่าง ครั้งหนึ่งเคยหลอกให้พ่อแม่สมัครอินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้ง แล้วโอนเงินเก็บของพ่อเกือบแสนบาทมาใช้จนหมดภายใน 2 เดือน ปัจจุบันไม่ทำงาน อยู่บ้านเฉย ๆ จากกรณีศึกษาข้างต้น ทำให้เราเห็นความสำคัญของ "พ่อ/แม่/ผู้เลี้ยงดูเด็ก และการใช้ยา" เด็กหลายคนได้รับความเอาใจใส่จากครอบครัว พาเข้าสู่กระบวนการรักษา ทานยาแล้วได้ผลดี ชีวิตมีความสุข มีอนาคตที่ดี แต่เด็กบางคนไม่ได้ทานยา ก็อยู่รอดปลอดภัยมาได้ เพราะสายสัมพันธ์ที่ดีที่แม่ได้สร้างไว้ ในขณะที่เด็กบางคนขาดโอกาสในการรักษา เพราะพ่อแม่ไม่รู้ หรือไม่ยอมรับความเจ็บป่วยของลูก จึงนำไปสู่เรื่องราวต่าง ๆ ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นผู้ใหญ่สมาธิสั้นแต่ละคนมีเส้นทางอนาคตที่แตกต่างกัน งดงาม หรือล่มสลาย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีเหตุปัจจัยมาจากการเลี้ยงดูในอดีตของครอบครัว ... แต่อนาคตของลูกเราจะเป็นแบบไหนนั้น พ่อแม่สามารถกำหนดได้ตั้งแต่ตอนนี้ ... เมื่อพบว่าลูกมีพัฒนาการบางอย่างต่างจากเด็กทั่วไป พ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูต้องค้นหาหนทางในการช่วยเหลือและพัฒนา เพื่อให้ลูกมีความสุขกับการใช้ชีวิต และเติบโตขึ้นเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าของโลกใบนี้ … ขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวในการเลี้ยงดูลูกนะคะ 📌 หากต้องการข้อมูลการศึกษาพิเศษ เพื่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษ สามารถติดต่อได้ที่ “ศูนย์การศึกษาพิเศษ โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต” นะคะ เครดิตภาพประกอบภาพปกโดย Canva.comภาพที่ 1 ภาพโดย vanitjan1 จาก Freepikภาพที่ 2 ภาพโดย tirachardz จาก Freepikภาพที่ 3 ภาพโดย tirachardz จาก Freepikภาพที่ 4 ภาพโดย asier-relampagoestudio จาก Freepikภาพที่ 5 ภาพโดย tirachardz จาก Freepikอัปเดตความรู้ใหม่ ๆ อีกมากมาย โหลดเลยที่ App TrueID ฟรี !