เมื่อได้ยินคำว่าห้องฉุกเฉิน หลายคนคงจะนึกถึงภาพความวุ่นวาย เลือดที่สาดกระเซ็น ความเท่ห์ของหมอในซีรีย์เกาหลี หรือประเด็นร้อนแรงในโลกอินเทอร์เน็ตที่ว่าห้องฉุกเฉินทุกวันนี้ไม่ใช่ห้อง “ฉุกเฉิน” อีกต่อไป อะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงภายในห้องสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่แห่งนี้ ห้องฉุกเฉิน โดยเฉพาะในโรงพยาบาลรัฐ มักจะแน่นขนัดไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตาจากทั่วทุกสารทิศเต็มไปด้วยเรื่องราวน่ายินดีจนถึงเรื่องราวชวนสลดใจ จุดเริ่มต้นและวินาทีสุดท้ายบนโลกใบนี้ถูกจารึกไว้ณ ที่แห่งนี้ ชีวิตก็เหมือนกับรถไฟขบวนหนึ่งที่โลดแล่นไปตามรางเหล็กที่มุ่งหน้าไปสถานที่ที่แตกต่างกันไป ใกล้บ้างไกลบ้าง บางเส้นราบเรียบ บางเส้นขรุขระ ในขณะที่บางรางเกิดผิดพลาดจนต้องหยุดรถไฟขบวนนี้ลงไว้เท่านี้ ในเวลาไม่กี่สัปดาห์ที่ผู้เขียนในฐานะนักศึกษาแพทย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่งได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติงานที่ห้องฉุกเฉินในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง นอกเหนือจากประสบการณ์ในการฝึกตรวจและวางแผนการรักษาผู้ป่วยด้วยตนเองแล้ว ก็ยังได้พบกับสัจธรรมและปัญหามากมายที่ถูกซุกซ่อนไว้ในพื้นที่แห่งนี้ ผู้ป่วยมากมายที่นอนเรียงรายอยู่ภายในห้องฉุกเฉินจำนวนไม่น้อยเป็นผู้ป่วยที่เวลานี้ควรจะอยู่ที่หอผู้ป่วยด้านบน แต่กลับต้องติดแหงกอยู่ที่นี่เนื่องด้วยปัญหาเตียงที่หอผู้ป่วยเต็ม ครั้นจะไล่ผู้ป่วยบนวอร์ดออกก็คงจะไม่ได้ หรือจะส่งผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวต่อที่อื่นก็ดูใช่เหตุด้วยเหตุผลหลายประการ คนใหม่เข้า คนเก่าไม่ออก อัดแน่นเป็นปลากระป๋อง จนหลายครั้งก็แทบไม่มีทางเดินกันเลยทีเดียวเกิด แก่ เจ็บ ตาย สี่คำนี้สามารถพบได้ที่นี่ “เกิด” คำแรกนั้นพบได้ไม่บ่อยนัก ด้วยหากฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลของเราอยู่แล้ว ก็สามารถขึ้นตรงไปยังห้องคลอดได้เลยโดยไม่ต้องผ่านห้องฉุกเฉินเสียให้วุ่นวายแต่ถ้าหากไม่ได้ฝากครรภ์กับเราล่ะ ปัญหาคือคุณ(กำลังจะเป็น)แม่หลายคนไม่เคยฝากครรภ์มาก่อน แถมไปมาแล้วหลายโรงพยาบาล ต่างก็เตียงเต็มกันหมด สุดท้ายมาจบลงที่นี่ เกิดปัญหาขึ้นมากมายทั้งในเรื่องการรีวิวประวัติการฝากครรภ์ เตียง และสิทธิการรักษา ไม่ใช่ว่าโรงพยาบาลขี้งกหรือไร แต่ด้วยเรื่องของสิทธิ์แล้ว กับการคลอดและบริบาลทารกที่กำลังจะลืมตาดูโลกนั้นคาดเดาค่าใช้จ่ายเสร็จสรรพได้ยากปัญหาก็ตกอยู่ที่กระเป๋าตังค์ของคุณพ่อคุณแม่เสียแล้ว “แก่” ทุกคนล้วนต้องแก่ แต่จะดีกว่ามากถ้าไม่แก่และ “เจ็บ” ไปพร้อมกัน แต่ถ้าไม่ใช่ว่าได้รับพรจากสวรรค์ก็คงเป็นไปได้ยาก ทำให้ผู้ป่วยเกินกว่าครึ่งในห้องฉุกเฉินนั้นเป็นคนแก่อย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในยุคที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มกำลัง ที่นี่เราพบเจอทั้งคุณยายที่มาพร้อมความเจ็บป่วยมากมายจนนับไม่ถ้วน ปวดตรงนู้นเจ็บตรงนี้แต่ตรวจดูก็สบายดีไปหมดทุกจุดจนหมอถึงกับต้องเกาหัว จนกระทั่งคุณตาที่บอกว่าตัวเองสบายดีทุกประการ ไม่รู้ลูกหลานจะพามาทำไม แต่พอตรวจดูแล้ว ดีแล้วแหละที่มาห้องฉุกเฉิน เมื่อนึกถึงผู้ป่วยวัยชรา “เจ็บ” แน่นอนว่าเจ็บป่วยแล้วก็ต้องมาหาหมอ เจ็บป่วยรุนแรงจนต้องรีบรักษาก็มาห้องฉุกเฉิน เจ็บป่วยพอรอได้ก็ไปแผนกผู้ป่วยนอก แต่ความจริงไม่ใช่แบบนั้น ที่นี่เรามีผู้ป่วยทุกรูปแบบ ตั้งแต่หัวใจหยุดเต้นที่หมอและเจ้าหน้าที่จะต้องวางมือจากกิจกรรมทุกอย่างเพื่อวิ่งไปกู้ชีพกลับมา ผู้ป่วยที่มีอาการมาตั้งนานแล้ว แต่ไม่รู้ด้วยฟ้าฝนเป็นใจหรืออย่างไรจึงเลือกที่จะมาหาหมอในวันนี้ หรือแม้แต่พนักงานออฟฟิศที่มาขอใบรับรองแพทย์เพื่อไปลาหยุด และนี่ก็คือคำจำกัดความของห้อง “ไม่” ฉุกเฉินนั่นเอง แพทย์หลายท่านออกมาเรียกร้องให้แก้ไขระบบเช่นนี้ ก่อนที่ห้องฉุกเฉินจะล่มสลายจากการที่ต้องดูแลคนไข้เหล่านี้จนไม่สามารถรองรับผู้ป่วยฉุกเฉินของจริงได้อย่างทันท่วงที ผู้เขียนเองในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ก็เห็นด้วยเช่นกัน แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง คุณอาจได้เห็นโลกอีกใบ ความเป็นจริงอันโหดร้ายของมนุษย์วัยกลางคนที่ต้องทำงานแลกเงินเพื่อพยุงครอบครัว หากจะมาหาหมอในเวลาราชการตามที่ถูกที่ควร แล้วค่าตอบแทนที่หายไปจะทำอย่างไร สิ่งที่พวกเขากังวลก็มีเพียงเท่านี้ แค่นี้ก็เป็นเรื่องหนักหนาสาหัสสำหรับคนหาเช้ากินค่ำแล้ว หรือผู้ป่วยบางคนที่เราอาจมองว่าแค่เจ็บป่วยเล็กน้อย ทำไมไม่รอมาในเวลาราชการ นอกไปเสียจากเวลาที่ไม่เอื้ออำนวยแล้ว อย่าลืมว่าพวกเขาเหล่านั้นก็เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ได้มีความรู้ทางการแพทย์ แต่ภายในใจร่ำร้องอยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ต่างจากเรา คำถามคือปัญหาอยู่ที่ตรงไหน แล้วเราจะแก้ไขอย่างไรมากเสียกว่าการกล่าวโทษผู้ป่วยเหล่านี้แล้วจบไป แต่คงไม่ง่ายนักที่จะขุดต้นตอของปัญหาเพื่อนำมาแก้ไขได้ในเร็ววัน ในเมื่อปัญหามันได้ฝังรากลึกอยู่ในระบบสาธารณสุขของไทยเรามาอย่างยาวนาน “ตาย” การจากไปของชีวิตหนึ่ง ณ ที่แห่งนี้มีให้เห็นได้บ่อยจนเป็นเรื่องชินตา ทั้งผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อยู่มาได้ถึงเพียงนี้ก็นับว่าปาฏิหาริย์ ผู้ประสบอุบัติเหตุจนต้องจากไปอย่างรวดเร็วจนญาติเตรียมใจไม่ทัน ไม่ว่าแพทย์จะเก่งแค่ไหน อุปกรณ์จะเลิศเลอเพียงใดก็ไม่สามารถเอาชนะเงื้อมมือของผู้คุมปรโลกได้ ชินตา แต่ไม่ชินใจ หนึ่งชีวิตที่จากไปกับความโศกเศร้าของญาติที่ยืนรอคอยด้วยความหวังอยู่หน้าประตูห้องฉุกเฉิน นี่คือวัฏฏะสงสารของมนุษย์คนหนึ่ง เมื่อคนเราถึงวาระสุดท้ายของชีวิตล้วนไม่มีอะไรต่างกัน เป็นร่างกายอันบอบบางร่างหนึ่ง ใครเล่าจะรู้ว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นบ้าง เด็กน้อยที่วิ่งเล่นกับสุนัขตัวโปรดนักเรียนรางวัลเรียนดีสี่ปีซ้อน นักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ พ่อดีเด่นของใครสักคน สุดท้ายแล้วความหมายของการเกิดมาครั้งนี้คืออะไร คือการนั่งรถไฟไปให้ถึงเป้าหมายหรือการนั่งชมทิวทัศน์ไปตลอดเส้นทาง พวกเขาเหล่านั้นค้นพบแล้วหรือยัง ผู้เขียนค้นพบแล้ว การได้ช่วยเหลือพวกเขาเหล่านี้ให้กลับมามีรอยยิ้มได้คือความหมายของชีวิตผู้เขียน แต่ความหมายมิได้มีเพียงหนึ่ง เราทุกคนรวมถึงตัวผู้เขียนเองคงต้องค้นหามันไปเรื่อยๆ ในทุกวันที่เราก้าวเดินต่อไป บทความโดย.. |หนังศือพิมพ์| ขอบคุณรูปภาพจาก..ภาพปกและภาพที่ 1 โดย Pixabay จาก pexelsภาพที่ 2 โดย Pavel Danilyuk จาก pexelsภาพที่ 3 โดย RDNE Stock project จาก pexelsภาพที่ 4 โดย MART PRODUCTION จาก pexels เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !