2 หลักการควบคุมน้ำหนัก ด้วยตัวเอง กินยังไงไม่ให้อ้วน วิธีลดหุ่นสมัยนี้ว่ากันว่า "ถ้าอยากผอมต้องไปถามคนที่ผอม ไปถามคนที่รักษาหุ่นให้ดีได้ตลอด ว่าเขาทำยังไง!?" ซึ่งผู้เขียนมองว่าคำพูดนี้ใช้ได้จริง แต่มีเงื่อนไขอยู่ว่าถ้าเราไปถามมาแล้วเราต้องรู้จักเอามาปรับใช้ เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะสามารถทำได้แบบเดียวกันแป๊ะ! เหมือนกับคนที่เราไปถามเอาข้อมูลเขามา จนบางทีอาจมีบางคนพูดว่า "ไม่เห็นจะผอมเลยก็ทำตามแล้ว" นี่คือข้อผิดพลาด! แทนที่เราจะยึดที่หลักการแต่เราไปยึดเอาวิธีการ ในบทความนี้ผู้เขียนขอเน้นหนักไปที่หลักการที่สามารถเอามาควบคุมน้ำหนักให้หุ่นดีได้ ซึ่งเป็นหลักการที่สามารถใช้ได้ตลอดชีวิต วิธีการเปลี่ยนไปตลอดเดี๋ยวก็มีคนมาบอกวิธีการใหม่ๆ กับเรา แต่ถ้าเรารู้หลักการแล้วไม่ว่าจะไปอยู่ไหน จะอายุเท่าไหร่เราสามารถควบคุมน้ำหนักได้ตลอด ซึ่งอันนี้ต่างหากที่เป็นวิธีที่ฉลาดกว่า!การจะผอม การจะหุ่นดี การจะรักษาหุ่นให้ดีได้ตลอดนั้นมีเคล็ดลับค่ะ โดยเคล็ดลับนี้เริ่มจากความเข้าใจก่อนจากนั้นนำไปสู่การเลือกใช้วิธีการต่างๆ มาสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้ตัวเองสามารถควบคุมน้ำหนักได้ค่ะ ที่ผู้เขียนกล้าพูดเพราะผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่รักษาหุ่นได้แบบเดิมตลอดไม่ว่าจะผ่านไปกี่ฝนกี่หนาวก็ตาม ไม่เคยจ่ายค่าเทรนเนอร์ ไม่เคยซื้อยาลดความอ้วน ไม่เคยทดลองกินยาลดความอ้วน ไม่เคยเข้าคอร์สลดความอ้วน ไม่เคยทำอะไรที่เสียเงินในทำนองนั้น การจะรักษาหุ่นให้ดีได้ การจะควบคุมน้ำหนักให้คงที่ตลอดได้นั้นอาศัยหลักการเพียง 2 อย่างนี้ค่ะ 1. กินอาหารให้น้อยลงจากที่ผู้เขียนได้ศึกษาในตำราต่างๆ โดยส่วนใหญ่จะเป็นตำราในต่างประเทศนั้น และจากการสังเกตตัวเองและบุคคลรอบข้าง พบว่า การกินน้อยลงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้น้ำหนักลดลงได้อย่างน่าพึงพอใจ ลองนึกภาพตามค่ะ ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนคงเคยป่วยหรือไม่สบาย ตอนไม่สบายความอยากอาหารจะลดลง จึงทำให้กินอาหารได้น้อยลง คนป่วยส่วนใหญ่จะผอมลงเพราะกินไม่ได้ ลองนึกถึงผู้ป่วยที่โรงพยาบาลดูค่ะ เขาแทบไม่ได้ออกกำลังกายเลยแต่ทำไมน้ำหนักลดลง เพราะเขากินได้น้อยลงนั่นเอง แต่ไม่ได้บอกว่าให้พากันไปป่วยนะคะต่อไปนี้คือตัวอย่างการกินน้อยลงของผู้เขียนที่ปรับใช้ในทุกๆ วัน จนติดเป็นนิสัย ไม่ได้ลำบากอะไรค่ะ เพราะถ้าเรามีเป้าหมายว่าต้องการมีสุขภาพดี การกินน้อยลงก็เหมือนเป็นกิจวัตรประจำวันปกติเหมือนอาบน้ำ แปรงฟัน ไม่ได้มีอะไรยากค่ะ การกินน้อยลงสามารถทำได้ในลักษณะดังต่อไปนี้การกินอาหารอย่างอื่นทดแทนอย่างหนึ่ง หมายความว่า สมมติลดข้าวลงครึ่งทัพพี ผู้เขียนจะแทนที่ข้าวครึ่งทัพพีที่หายไปนั้นด้วยผักหรือผลไม้ ไม่ต้องตวง วัดหรือบันทึกค่ะ เราจะรู้เองอัตโนมัติ หรือถ้าวันไหนผู้เขียนกินบางอย่างที่ให้พลังงานมากจะลดอย่างหนึ่งที่ให้พลังงานสูงในวันนั้นลงทันที เช่น ลดข้าวลง ลดการกินไขมัน ไม่ทำอาหารประเภททอดหรือผัดในวันนั้นกินอาหารทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง ในวันหยุดสุดสัปดาห์นั้นผู้เขียนจะกินอาหารเพียงครั้งละหนึ่งถ้วยเล็ก ในทุกๆ 3-4 ชั่วโมง ในช่วงกลางวันเท่านั้น การกินอาหารทีละน้อยๆ แต่บ่อยครั้งนี้ทำให้การย่อยเกิดขึ้นได้ดีกว่า และไม่ต้องไปกินหนักที่มื้อใดมื้อหนึ่งจนทำให้เราอาจกินเกินกว่าที่ร่างกายต้องการค่ะเมื่อรู้สึกว่าอิ่มต้องหยุดทันที ถึงแม้ว่าจะไปกินอาหารแบบเหมาจ่ายหรือเป็นอาหารฟรีก็ตาม การหยุดกินเมื่อเรารู้ตัวว่าเริ่มอิ่มจะทำให้เราติดนิสัยกินแค่พอดี ถ้ามีอาหารเหลือให้เก็บเอาไปไว้กินมื้อหลัง ถ้าคุณผู้อ่านรู้ว่ากระเพาะเราสามารถขยายได้คุณผู้อ่านจะกลัวกับการกินมาก และจะหยุดเหมือนกับผู้เขียน บางทีอาจเป็นเพราะว่าเราไม่รู้ว่ากระเพราะสามารถขยายได้เราเลยกินไม่บันยะบันยัง เราจึงพบว่ามีคนสามารถอ้วนได้เป็นร้อยกิโลกรัมจะต้องมีสติทุกครั้งเมื่อเกี่ยวข้องกับการกิน ในอดีตนั้นผู้คนหาอาหารได้ยากลำบากกว่าจะเจออาหารต้องเดินทางไปเป็น 10 กิโลเมตร แต่สมัยนี้ในรัศมีแค่เพียงกิโลเมตรเดียวมีร้านอาหารมากกว่า 100 ร้าน จึงทำให้ผู้คนสนุกสนานและเพลิดเพลินกับการกินจนลืมไปว่าการกินมากไปนำมาซึ่งปัญหาด้านสุขภาพได้ ดังนั้นตอนนี้ไม่ใช่เรื่องของการขาดแคลนอาหารแต่เป็นเรื่องของการต้องมีสติแทน! ผู้เขียนจะเตือนตัวเองตลอดถ้าต้องเกี่ยวข้องกับการกิน กินได้ ลองอาหารใหม่ๆ ได้ ผู้เขียนก็กินหมดทุกอย่างค่ะ พิซซ่า คุกกี้ ขนมปัง หมูสามชั้นก็กิน แต่ทุกครั้งมีสติว่ากินแค่ไหนพอจะต้องไม่รู้สึกเสียดายเวลามีอาหารเหลือ เพราะการไปคิดเสียดายอาหารมักจะจบด้วยการกินให้หมด ณ ตอนนั้น ซึ่งไม่มีความจำเป็นเสมอไป เรายังสามารถเก็บอาหารที่เหลือไว้ได้ถ้าเสียดาย แล้วเอามาอุ่นในเวลาอื่น ปกติผู้เขียนมักจะเก็บอาหารที่เหลือไว้อุ่นกินเวลาอื่นแทนการกินให้หมดในทีเดียวที่เวลาหนึ่งค่ะ2. ออกกำลังกายให้มากขึ้นการออกกำลังกายเป็นเรื่องของการสร้างนิสัยค่ะ ให้เริ่มต้นจากสิ่งที่เป็นไปได้ก่อน เช่น เดิน 5 นาที วิ่งเร็ว 2 นาที หรืออะไรก็ตามแต่จากจุดเล็กๆ แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่องไม่เกี่ยงว่าฝนจะตกหรือแดดออก ถ้าฝนตกก็ออกกำลังกายที่บ้านได้ เช่น แกว่งแขน 5 นาที ผู้เขียนมักจะออกกำลังกายด้วยวิธีที่ๆ หลากหลายมากกว่ายึดติดเพียงวิธีการเดียว และทำในระดับที่เป็นไปได้ เช่น เกร็งหน้าท้องพร้อมกับยกแขนขึ้นประสานกันเหนือหัวและเดินขาชิดประมาณ 5 นาที ทำโยคะในท่าที่ง่ายๆ จำนวน 5 ท่า วันละ 10 นาที บางวันก็ได้ทำแค่ 5 นาที บางทีก็ออกไปเดิน ไปวิ่ง วันไหนมีโอกาสมีเวลามากก็ไปขี่จักรยาน แต่ทำตลอดไม่เคยลืม พบว่าสามารถช่วยทำให้ควบคุมน้ำหนักได้ค่ะ ผลลัพธ์จากที่ใช้หลักการเพียง 2 อย่างข้างต้นนั้น ปัจจุบันน้ำหนักเพียง 45-47 กิโลกรัม ด้วยความสูง 163 เซนติเมตร ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน ก็หนักเท่าๆ นี้ค่ะ หรือถ้าย้อนไปไกลเป็น 10 ปี ก็มีน้ำหนักเท่านี้เหมือนกันค่ะ ซึ่งถ้าคำนวณดัชนีมวลกายอาจพบว่าต่ำ แต่ผู้เขียนพบว่าน้ำหนักเท่านี้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกสุขสบายมากกว่า และเนื่องจากว่าผู้เขียนต้องการบริจาคเลือดจึงไม่สามารถมีน้ำหนักตัวได้ต่ำกว่า 45 กิโลกรัมได้ค่ะ ซึ่งถ้าจะทำก็ทำได้แต่จะบริจาคเลือดไม่ได้ ผู้เขียนจึงใช้หลักการข้างต้นควบคุมน้ำหนักให้ไม่น้อยกว่า 45 กิโลกรัม และพบว่าหลักการข้างต้นใช้ได้จริง ในขณะที่กำลังเขียนบทความนี้ก็ยังยึดเอาหลักการข้างต้นนี้มาประยุกต์ใช้ทุกวันค่ะปรับไปตามสถานการณ์บางวันได้ทำมากบางวันก็ได้ทำน้อยแต่ไม่เคยทิ้ง 2 หลักการนี้ค่ะจากที่ผู้เขียนได้สังเกตมานั้นไม่ว่าจะใช้วิธีการลดน้ำหนักแบบไหนก็ใช้หลักการเพียง 2 อย่างนี้เท่านั้น ต่อให้มีคนคิดค้นวิธีการผอมขึ้นมาใหม่ก็ยังวนเวียนอยู่ใน 2 หลักการนี้เท่านั้น เช่น การกินแบบคีโตก็คือการกินให้น้อยลงโดยการลดแป้ง การลดน้ำหนักแบบไอเอฟก็คือการกินให้น้อยลงโดยลดระยะการกินให้สั้นลง การออกกำลังกายแบบต่างๆ ก็คือหลักการที่ 2 คือออกกำลังกายให้มากขึ้น อย่าไปยึดที่วิธีการค่ะให้ยึดที่หลักการและเมื่อพบว่าเริ่มมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นให้หยุดและกลับมายึด 2 หลักการนี้ ต่อให้ตอนนี้น้ำหนักมากแบบสุดๆ การเอาหลักการ 2 อย่างนี้ไปใช้ก็ทำให้น้ำหนักลดลงได้แต่ต้องทำต่อเนื่อง! และการยึดเอาหลักการข้างต้นมาใช้จะต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แบบทำสะสมไปทีละเล็กทีละน้อยค่ะข้อผิดพลาดของคนส่วนใหญ่คือไปยึดเอาวิธีการใดวิธีการเพียงอย่างเดียวในการควบคุมน้ำหนัก และหวังผลลัพธ์เพียงชั่วข้ามคืนแล้วไปสรุปว่าตัวเองลดน้ำหนักไม่ได้ ที่ผู้เขียนทำนั้นใช้หลากหลายวิธีสลับกันไปตามโอกาสจะเอื้อ แต่ต้องเข้าใจว่าหลักการควบคุมน้ำหนักจริงๆ นั้นมีแค่ 2 หลักการนี้ และหัวใจของการควบคุมน้ำหนักเป็นเรื่องของการประยุกต์ใช้หลากหลายวิธีจนติดเป็นนิสัย จึงจะทำให้สามารถควบคุมน้ำหนักให้คงที่ได้ตลอดเหมือนกับผู้เขียนค่ะ ต้องตัดสินใจตอนนี้เลยค่ะว่าจะเริ่มลงมือทำเพื่อลดหุ่น เพื่อลดน้ำหนัก การลงมือทำด้วยความเข้าใจโดยยึดหลักการข้างต้นเท่านั้นจึงจะเห็นผลค่ะเครดิตโดย: ผู้เขียนภาพหน้าปกจาก kyle smith / Unsplash ออกแบบใน Canvaภาพประกอบเนื้อหาจาก: ภาพที่ 1 i yummai / Unsplash, ภาพที่ 2 Total Shape / Unsplash, ภาพที่ 3 Jamie Matociños / Unsplash, ภาพที่ 4 Arek Adeoye / Unsplashบทความอื่นที่น่าสนใจ❇️แชร์ประสบการณ์ลดไขมันไตรกลีเซอไรด์ LDL คอเลสเตอรอลด้วยตัวเอง6 วิธี ปรับพฤติกรรมเพื่อมีสุขภาพที่ดีขึ้น สุขภาพดีสร้างได้ อ่านเลย!เทคนิคการกินแบบญาญ่า IF คืออะไร ทำไมผอมได้🗺 แชร์ที่เที่ยวใหม่ๆ ไม่ว่าจะเที่ยวสายไหนก็มาแวะแชร์กับทรูไอดีคอมมูนิตี้ “เที่ยวไปให้สุด”