รีเซต

เป็นไข้หลังฉีดวัคซีนทำอย่างไรดี วิธีลดไข้และวิธีดูแลตนเองเมื่อมีไข้

เป็นไข้หลังฉีดวัคซีนทำอย่างไรดี วิธีลดไข้และวิธีดูแลตนเองเมื่อมีไข้
Faii_Natnista
9 มิถุนายน 2564 ( 12:00 )
4.2K

     เป็นไข้หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำอย่างไรดี ช่วงนี้คำถามนี้บอกเลยว่าพบเจอได้บ่อยสุดๆ ค่ะ เนื่องจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยเฉพาะวัคซีน แอสตราเซเนกา หรือ AstraZeneca ก็สามารถพบเจอผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนได้อย่างการมีไข้ ปวดเนื้อปวดตัว แต่ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพราะอาการมีไข้นั้นเป็นอาการข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป แต่เมื่อมีไข้แล้วจะทำอย่างไรดี วันนี้เรามีคำตอบ พร้อมวิธีลดไข้และวิธีดูแลตนเองเมื่อมีไข้มาฝากกัน!

 

 

อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนโควิด-19

     หลังฉีดวัคซีนอาจพบเจออาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรงได้ดังนี้

  • อ่อนเพลีย
  • มีไข้ต่ำ บางรายอาจมีไข้สูง
  • หนาวสั่น
  • ครั่นเนื้อครั่นตัว
  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน ไม่เกิน 5 ครั้ง
  • ปวด บวม แดง หรือร้อนบริเวณที่ฉีดวัคซีนโควิด 1-2 วัน

     สำหรับอาการรุนแรง จะพบได้ไม่บ่อยหรือพบได้น้อย ก็ได้แก่

  • มีก้อนบริเวณที่ฉีดยา
  • เวียนศีรษะ
  • ใจสั่น
  • ปวดท้อง
  • อาเจียน 
  • ความอยากอาหารลดลง
  • เหงื่อออกมากผิดปกติ
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • ปากเบี้ยว
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ชักหมดสติ

     อาการที่แพ้รุนแรง มักจะพบได้ภายใน 30 นาที หลังฉีดวัคซีน หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

 

เป็นไข้หลังฉีดวัคซีนทำอย่างไรดี

     อาการเป็นไข้สามารถพบได้กับผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว แต่ไม่ต้องกังวลนะคะ เพราะอาการมีไข้ ปวดหัวจะเป็นเพียงอาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรง ให้นอนพัก 2-3 วัน หรือเมื่อมีไข้ ปวดศีรษะ สามารถกินยาลดไข้ได้ตามปกติ

     โดยสามารถรับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ขนาด 500 มิลลิกรัม จำนวนครั้งละ 1-2 เม็ด เพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะหรืออาการไข้ ได้ทุก 4-6 ชั่วโมงตามความจำเป็น ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังได้รับการฉีดวัคซีน

     แต่ ไม่ควรรับประทานยาแก้ปวดจำพวก Blufen, Arcoxia, Cerebrex เด็ดขาด

 

วิธีลดไข้และวิธีดูแลตนเองเมื่อมีไข้

1. รับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล (Paracetamol)

     สำหรับการรับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ในผู้ใหญ่นั้น ให้รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด (ชนิดเม็ด 500 มิลลิกรัม) สามารถรับประทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรเกิน 8 เม็ดหรือ 4 กรัมต่อวัน โดยแนะนำว่าควรรับประทานยาเมื่อมีไข้สูงเท่านั้น (ตั้งแต่ 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป) หรือเมื่อมีอาการปวดศีรษะ หากมีไข้ต่ำๆ อาจไม่จำเป็นต้องรับประทานยาลดไข้ค่ะ เพียงแค่เช็ดตัวบ่อยๆ ก็เพียงพอแล้ว

2. ตรวจวัดอุณหภูมิอยู่เสมอ

     อุณหภูมิของร่างกายจะเป็นตัวบ่งบอกความรุนแรงของโรคที่เป็นอยู่ได้ค่ะ ฉะนั้นควรวัดอุณหภูมิร่างกายอยู่เสมออย่างน้อยทุก 6-8 ชั่วโมง หรือตรวจวัดเมื่อสงสัยว่าไข้ขึ้นหรือไข้สูง เช่น ปวดศีรษะมากขึ้น ซึมลง หรือครั่นเนื้อครั่นตัวมาก

3. เช็ดตัวบ่อยๆ เมื่อมีไข้สูง

     หากตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายแล้วพบว่ามีไข้สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ให้หมั่นเช็ดตัวบ่อยๆ โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นตำแหน่งของหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ เช่น หน้าผาก ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ และตามข้อพับต่างๆ เช็ดจนรู้สึกว่าร่างกายเย็นลง เสร็จแล้วให้เช็ดตัวให้แห้งและสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี หลังเช็ดตัวแล้ว 30 นาที หากไข้ยังกลับขึ้นมาสูงอีกก็ให้เช็ดซ้ำอีกครั้ง

     สำหรับการเช็ดตัวให้เริ่มเช็ดไล่ไปดังนี้

  • เช็ดที่ใบหน้า คอ หลังหู
  • จากนั้นเช็ดแขนทีละข้าง โดยเริ่มจากปลายแขนเข้าสู่หัวใจ และพักผ้าไว้บริเวณรักแร้สักครู่ ทำซ้ำกับแขนอีกข้าง ทำซ้ำ 2-3 รอบ
  • เช็ดบริเวณลำตัว พักผ้าไว้บริเวณหัวใจสักครู่
  • จากนั้นเช็ดขาทีละข้าง โดยเช็ดจากปลายขาเข้าสู่หัวใจ แล้วพักผ้าไว้ที่ข้อพับใต้เข่า ขาหนีบสักครู่ ทำซ้ำ 2-3 รอบ

 

4. จิบหรือดื่มน้ำบ่อยๆ

     ควรจิบน้ำหรือดื่มน้ำบ่อยๆ ตลอดทั้งวัน เพื่อช่วยขับปัสสาวะ แต่ไม่ควรดื่มน้ำเย็นนะคะ ซึ่งการดื่มน้ำมากๆ จะช่วยขับปัสสาวะออกมาซึ่งถือเป็นการช่วยลดไข้ในทางหนึ่ง และการดื่มน้ำมากๆ ยังเป็นการทดแทนน้ำที่สูญเสียไปเนื่องจากไข้สูงอีกด้วย

5. นอนหลับพักผ่อนมากๆ

      อาการเป็นไข้อาจเกิดขึ้นได้จากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ฉะนั้นเมื่อมีไข้ ควรนอนหลับพักผ่อนให้มากขึ้น และไม่ออกไปข้างนอกหลีกเลี่ยงการเจอแสงแดด ลม หรือฝน ที่อาจทำให้ไข้สูงมากขึ้น

 

บทความที่คุณอาจสนใจ

 

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ

แท็กยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง