รีเซต

คุยกับ บก. ดิฉัน 27 ปี แห่งคุณภาพ

คุยกับ บก. ดิฉัน  27 ปี แห่งคุณภาพ
11 กันยายน 2557 ( 16:25 )
4.4K

 


 

   ถ้าพูดถึงนิตยสารผู้หญิงหัวต่าง ๆ   ปัจจุบันเราคงนับกันไม่หวาดไม่ไหว เพราะมีมากมายทั้งของไทย และที่ซื้อลิขสิทธิ์จากเมืองนอก  แต่ถ้าจะพูดถึงนิตยสารที่ครองใจ ครองความนิยมของคนอ่านมายาวนาน ชื่อของนิตยสาร “ดิฉัน” ก็น่าจะเป็นชื่อที่เราคุ้นเคยกันดี  การันตีด้วยจำนวนเล่มที่ยาวนานมาถึง ฉบับที่  900 !!!  Woman’s Idol ของเราก็เลยจะพาสาว ๆ   TrueLife มารู้จักกับผู้หญิงเก่ง ที่กุมบังเหียนนิตยสารที่มีอายุยาวนานแทบจะที่สุดฉบับนี้   พี่แหม่ม เกษสุดา มาระวิชัย   บรรณาธิการบริหาร ของนิตยสาร “ดิฉัน”

TrueLife:  เส้นทางการทำงานก่อนจะมาเป็น บก.ดิฉัน   

คุณเกษสุดา: พี่เรียนนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ แต่ไม่ได้เรียนสาขาหนังสือพิมพ์เลย พี่เรียนสาขาโฆษณาด้วยซ้ำซึ่งก็เหมือนจะไม่เกี่ยวกัน  แต่งานแรกที่เริ่ม ทำก็คือ แมกกาซีนชื่อ เฟอร์นิเจอร์ เป็นหนังสือที่โมเดิร์นมาก เปรี้ยวมาก ก็ไปทำอยู่ซักปีกว่า ๆ ส่วนมากจะเป็นแปลเรื่องมากจากแมกกาซีนเมืองนอก แล้วหลังจากนั้นก็ไปเรียนต่อ Mass Communication ที่อเมริกา  พอกลับมา ก็เลยมาทำดิฉันตอนปี 2530 แล้วก็ทำที่ดิฉันมาตลอด เริ่มมาตั้งแต่แรก ตั้งแต่ยังทำอะไรไม่เป็นเลยก็เรียนรู้งานมาตลอด แล้วก็ชอบขึ้นเรื่อยๆ นับถึงตอนนี้ก็ 27 ปีแล้ว เริ่มทำมาตั้งแต่คอลัมน์เล็ก ๆ คือ ตั้งแต่สมัยพี่ชาลี บก.คนก่อน ใครเข้ามาใหม่ก็จะสอนให้เริ่มทำจากเล็ก ๆ มาก่อนให้เริ่มจากคอลัมน์เล็ก ๆ ก่อน   ก่อนจะมาถึงคอลัมน์ใหญ่สุด อย่างคอลัมน์เปิดอกที่เป็นสัมภาษณ์..พี่ก็ทำมาตลอด 20 กว่าปี จนกระทั่งตอนหลังที่มาเป็น บก. แล้วก็ถึงได้หยุดไป เพราะไม่มีเวลา

TrueLife: แรงบันดาลใจอะไรที่ทำให้เลือกที่จะทำงานด้านหนังสือ 

คุณเกษสุดา : จริง ๆ ตอนแรกก็ไม่คิดว่าเราจะทำหนังสือได้ พอทำ ๆ ไปมันรู้สึกว่า เห็นผลงานไง พอเขียนเสร็จปุ๊บ มันพิมพ์ออกมาบนกระดาษ มีคนมาอ่านของเรา แล้วก็มีคนมาคอมเม้นท์ มีคนมาบอกว่าชอบนะ เราก็รู้สึกว่าผลงานเรามีคนพูดถึง มันก็เลยกลายเป็นแรงบันดาลใจ แล้วมันก็สนุก เพราะการทำหนังสือก็เป็นการเปิดโลกให้ตัวเอง เราได้รู้จักคน ได้เรียนรู้ ได้เดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ  ไปต่างประเทศ  มันเปิดโลกทัศน์ของตัวเองมาก  เราได้เห็นสิ่งใหม่ตลอดเวลา ไม่ใช่เรื่องจำเจ แม้แต่คนสัมภาษณ์แต่ละคนก็มีเรื่องราวไม่เหมือนกัน ชีวิตคนก็ไม่เหมือนกัน เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มันก็เป็นเสน่ห์ของการทำหนังสือ



TrueLife: การที่ต้องมากุมบังเหียนนิตยสารที่ได้ชื่อว่ายืนยาวมานานที่สุดฉบับหนึ่งของประเทศ มีความท้าทายอย่างไรบ้าง  

คุณเกษสุดา : ความท้าทายคือ คนคาดหวังเราเยอะ ดังนั้นสิ่งที่เรานำเสนอ ต้องตรวจสอบมาอย่างดี เพราะคนอ่านเชื่อถือในเรื่องที่นำเสนอมาก  ทำให้เราต้องระวัง  ถ้าเราเสนอเรื่องผิด เค้าเชื่อไปแล้ว มันก็เกิดผลตามมา แล้วอีกอย่างเราต้องรับผิดชอบกับสังคมด้วย  “ดิฉัน” โป๊นิดหนึ่งนี่จะไม่ได้เลย เพราะคนคาดหวังว่าสไตล์ของเราต้องดู Glam ดูโก้  ดูดี ดูมีสาระ ดูเป็นผู้ดีหน่อย จะโฉ่งฉ่างชะเวิกชะวากไม่ได้  จะวับ ๆ แวม ๆ หน่อยก็ต้องให้ดูมีศิลป์ จะมาเยอะมากถึงขนาดถ่างแข้งถ่างขาให้กล้องเนี่ย..ไม่ได้ คือคนอ่านเค้าจะ Expect แล้วก็ Protect ให้เราไปในตัว แล้วก็จะมี Feedback กลับมา ซึ่งทำให้เรากับคนอ่านมีภาพหนังสือที่ตรงกัน  ถ้าเราฉีกออกไปนิดหนึ่ง เค้าจะท้วงเราแล้ว  แต่บางทีเราต้องการคนอ่านกลุ่มใหม่ เทรนด์หนังสือเมืองนอกเข้ามาเยอะเหลือเกิน คนก็อาจจะไปดู หรือเทรนด์คนอ่านเปลี่ยนไป อ่านหนังสือน้อยลง คอลัมน์ก็ต้องสั้นลง เราก็ต้องปรับ อย่างเมื่อก่อนคอลัมน์สัมภาษณ์มี 16 หน้า ตอนนี้คนอ่านก็ โห..ไม่ไหว เราก็ทอนลงมาให้มันกระชับขึ้น เรื่องก็จะสั้นลง Layout ก็ปรับตามเทรนด์ของคนอ่านที่เปลี่ยนไป เพราะคนอ่านเดี่ยวนี้จะมีเวลาให้น้อย อ่านสั้น ๆ  หรืออย่างหน้าปก เมื่อก่อนเราจะไม่เคยมีโปรยปกเลย แต่หลัง ๆ คนมาซื้อหนังสือเริ่มอยากรู้ว่าเนื้อหามีอะไร เราก็เริ่มโปรยปก แต่ก็เริ่มมาไม่นาน ราว ๆ ซัก 3-4 ปีหลังมานี่เอง  เราก็ต้องการขยายฐานคนอ่านออกไป เพราะเราก็ไม่สามารถอยู่กับฐานคนอ่านกลุ่มเดิมเพียงอย่างเดียว  แต่เราก็ไม่ได้ทิ้งคนอ่านกลุ่มเดิม เพียงแต่เราขยายฐานคนอ่านให้กว้างมากกว่าเดิมให้เข้าหาคนอายุน้อยลงมากขึ้น  แต่เราก็ไม่ได้โปรยเป็นพรืด แต่เลือกเฉพาะเรื่องสำคัญ ๆ 

TrueLife: เสน่ห์ของหนังสือดิฉันคืออะไร

คุณเกษสุดา : ผ่านมา 37 ปี 900 issues ในเดือนสิงหาคม 2557  ที่เราอยู่กับคนอ่านมาได้นานขนาดนี้ น่าจะเป็นเพราะสาระที่เรานำเสนอ  เราไม่ได้นำเสนอเรื่องหนักขนาดเป็นสารคดี แต่เรื่องที่เราเสนอมันมีแก่น ไม่ได้เป็นแต่เรื่องผิว ๆ  ถ้าอ่าน จะได้อะไรอย่างแน่นอน  สมัยนี้คนมักพูดว่าเด็กสมัยใหม่ไม่อ่านหนังสือหรอก เราก็ยังรู้สึกเสียใจนะ อยากให้ลองเปิดอ่านดูซักหน่อยเถอะ มันจะเป็นการเปิดโลกทัศน์ คุณจะได้อะไรเยอะจากการอ่าน  บางคนเขียนจดหมายมาเล่าให้ฟังว่า ไปบ้านแฟน แล้วก็ลองหยิบอ่าน  ไม่เคยรู้เลยว่า “ดิฉัน” จะมีสาระที่น่าสนใจแบบนี้ ต่อไปนี้จะอ่านตลอดแล้วละ แบบนี้มีเยอะ ไม่น่าเชื่อว่า 25% ของคนอ่าน “ดิฉัน” จะเป็นผู้ชาย เค้าไม่ได้ไปซื้ออ่านเองนะแต่อ่านตามแฟน อ่านตามคุณแม่ “ดิฉัน” เป็นหนังสือของครอบครัว ที่สามารถวางไว้ในห้องรับแขกของบ้านได้ ทุกคนหยิบอ่าน บางเล่มเราเล่นปกเป็นชุดว่ายน้ำที่อาจจะวาบหวามซักนิด คุณพ่อคุณแม่ก็จะบอก เล่มนี้วางไม่ได้ต้องเก็บ มันละเอียดขนาดนี้ ผู้อ่านสาว ๆ บางคน เขียนมาเล่าว่าหนูอ่านมาตั้งแต่เด็กๆ อ่านของคุณแม่ อ่านมาเรื่อย ๆ จนเรียนมหาวิทยาลัย จนเรียนจบ ทำงาน วันนี้หนูซื้อเองแล้ว สมัครสมาชิกเองแล้ว เราจะเป็นหนังสือของหลาย Generation มาก ซึ่งเราก็อยากดึงดูดเด็กวัยรุ่นสมัยนี้ให้ลองมาอ่านหน่อยเถอะ มันมีอะไรที่มากกว่าการไปตามอ่านกระแสบนเว็บอย่างเดียว เดือนหนึ่งลองหาอะไรยาว ๆ อ่านที่เจาะลึก มันจะให้อะไรกับตัวคุณเอง 



TrueLife: เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรจากดิฉันในยุคดิจิตัลแบบนี้บ้าง

คุณเกษสุดา : เรามี E-book on Tablet ซึ่งมีดีกว่าในหนังสืออีก ไม่ใช่แค่เป็น  file .pdf แต่เป็น Interactive มี VDO เบื้องหลังการถ่ายทำ Fashion , VDO ขั้นตอนการทำอาหาร เนื้อหาเหมือนกับในหนังสือ แต่มีลูกเล่น มีอะไรที่คนรุ่นใหม่ต้องการ แล้วเราก็มีช่องทางการสื่อสารกันทาง Facebook , IG  อีกหน่อยก็จะมี On Mobile ให้สามารถอ่านได้บนมือถือ เราก็ก้าวทันเทคโนโลยีในการเข้าถึงคนอ่าน

TrueLife: ทำอย่างไร ที่จะรักษาคาแรคเตอร์ของดิฉันไว้ให้ได้ ในขณะที่ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคนี้

คุณเกษสุดา : มันอาจจะเป็นประสบการณ์ เพราะเราเข้าใจคนอ่านมากพอสมควร เราพอจะรู้ว่า เค้ารับได้แค่ไหน เราก็จะไม่ตามไปจี๋จ๋า ไฮเทคมากซะจนปวดหัว เราก็จะมีเฟรมของเราว่า เราไปแค่นี้ดีกว่า ไม่มากไม่น้อยไป ก็จะปรับแบบกลาง ๆ ไม่ทิ้งคนอ่านรุ่นเก่า ในขณะเดียวกันก็มีสิ่งที่คนอ่านรุ่นใหม่ต้องการ เราไม่ได้นำหน้าคนอ่าน หรือทิ้งคนอ่าน แต่เราเดินไปด้วยกัน  ยุคนี้เทคโนโลยีมาแล้วนะ Facebook มานะ  IG มานะ เราไปเล่นเกมใน IG กัน ก็มีคนอ่านกลุ่มหนึ่งที่ชอบอะไรเร็ว ๆ ก็จะไปเล่นเกมกันในนั้น แต่ในขณะเดียวกัน ในหนังสือเราก็มีแจกของกัน กลุ่มนี้ก็อาจจะรอได้หน่อย เดือนหนึ่งนะ 2 เดือนนะ ก็จะมีทั้ง 2 แบบ คือเราจะก้าวไปด้วยกัน เรานำเสนอสิ่งที่คนอ่านอาจจะไม่มีเวลาได้ไปค้นหาเอง เหมือนเปิดหน้าต่างบานนี้ไปเจอเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสังคม เรื่องเซเลป เราไปหามาให้เค้า เราไม่ได้นำหน้าหวือหวาจนเป็นโลกที่เค้าไปไม่ถึง  ซึ่งเราก็อยากได้แต่ไม่ใช่ต้องกระเหี้ยนกระหือรือ เราเอาของดีดีกว่าที่จะต้องเป็นฉบับแรก  แน่นอนว่าเป็นภาพลักษณ์ที่ดี แต่ถ้าไม่ perfect เราไม่เอาดีกว่า

True Life: ฝากถึงผู้หญิง TrueLife ว่าการจะเป็นผู้หญิงเก่ง ที่ได้รับการยอมรับ เราควรต้องทำอย่างไรบ้าง

คุณเกษสุดา : อย่าคิดว่าตัวเองเก่ง เพราะเมื่อไหร่ที่คิดว่าเราเก่ง เราจะหยุดเดินไปข้างหน้า หยุดแสวงหาสิ่งใหม่ เพราะคิดว่าชั้นเก่งแล้ว ชั้นมีดีที่สุดแล้ว ชั้นอยู่บนสุดแล้ว มันจะไม่มีทางไปอีก ดังนั้นอย่าคิดว่าตัวเองเก่ง คิดว่าตัวเองต้องหาอะไรมาใส่เพิ่มตลอดเวลา มองไปข้างหน้า แล้วคิดให้ต่าง ต้องแหวกคนอื่นไปให้ได้ แล้วคิดบวกไว้ แค่นี้เราก็จะผ่านทุกอย่างไปได้

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง