รีเซต

แฟชั่นโชว์ Dior Men's Summer 2024 กับการนำเสนอที่โผล่ขึ้นมาจากพื้น

แฟชั่นโชว์ Dior Men's Summer 2024 กับการนำเสนอที่โผล่ขึ้นมาจากพื้น
FaiiNatnista
26 มิถุนายน 2566 ( 17:35 )
593
1

     เป็นที่น่าสนใจสุดๆ สำหรับแฟชั่นโชว์ Dior Men's Summer 2024 by Kim Jones ที่ดึงดูสายตาของเหล่าผู้ชมด้วยการนำเสนอที่น่าสนใจอย่างการโผล่ขึ้นมากจากพื้น

 

 

     “ในทุกแง่มุมของความเป็นห้องเสื้อชั้นสูงแห่ง DIOR ล้วนเกี่ยวพันกับเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย อันมีศูนย์กลางอยู่ที่มิติทรง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือรูปโครงสร้างในภาพรวม ซึ่งประกอบขึ้นจากทรวดทรงแบบต่างๆ ร่วมกับการใช้เทคนิคสุดพิถีพิถัน และความประณีตสูงสุดในแต่ละลำดับขั้นตอน ตลอดเวลาห้าปีที่ผมทำงานอยู่ที่นี่ ทั้งหมดนี้คือสิ่งซึ่งผมไม่เคยลืม ดังจะเห็นได้จากแต่ละคอลเลกชันที่ผมออกแบบสร้างสรรค์ มรดกทางการตัดเย็บเครื่องแต่งกายสตรีในอดีต ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับเครื่องแต่งกายชายปัจจุบัน สำหรับในวาระครบรอบห้าปีของผมนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการนำอิทธิพลต่างๆ จากเหล่าผู้สืบทอดตำแหน่งนักออกแบบประจำ DIOR ทั้งหลาย ตลอดจนกระแสความนิยมจากหลายยุคสมัยมาหลอมรวมกันเป็นผลงานยกย่อง และย้อนรำลึกถึงทุกบริบท “ความเป็นดิออร์” ร่วมกันในคอลเลกชันเดียว พร้อมกันนั้นก็มีการสอดแทรกมุมมอง หรือลูกเล่นแบบฉบับของเราเองลงไปอย่างแยบคาย โดยอาศัยรายละเอียดสิ่งทอ หรือเนื้อสัมผัสของวัสดุกับเทคนิคมากมายในการเชื่อมต่อ สร้างความกลมกลืน รวมถึงบางสัญลักษณ์ยอดนิยมของ DOIR โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลายสานหวายหรือ CANNAGE นั่นเอง” คิม โจนส์

 

 

     จากมิติทรงแบบต่างๆ ของเสื้อผ้า DIOR ในยุคอีฟส์ แซงต์ โลรองต์ ไปจนถึงสารพันงานปักในยุคของจานฟรังโก แฟรเร จากงานประดับหลังเบี้ยของมงซิเออร์ดิออร์ ไปจนถึงเนื้อผ้าหลากสไตล์ของมาร์ค โบฮัน การร้อยเรียงอิทธิพลจากผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ในแต่ละสมัยเข้ากับลวดลายสัญลักษณ์ยอดนิยม หาได้ต่างอันใดจากการนำกล้าพันธุ์มาเพาะปลูกร่วมกันภายในสวน “ดอกไม้-ผู้ชาย” ที่มอบความตระการตาระหว่างการหลอมรวมขนบธรรมเนียมดั้งเดิมเข้ากับแนวคิดนอกกรอบ จากความเป็นผู้หญิงสู่ความเป็นผู้ชาย จากห้องซาลอนจัดงานสุดหรูมาสู่ท้องถนนกลางเมือง และจาก NEW LOOK ซึ่งถูกใช้เรียกงานออกแบบรูปลักษณ์ใหม่เมื่อทศวรรษ 1950 มาสู่ NEW WAVE ผลงาน “คลื่นลูกใหม่” ของวันนี้

 

 

     รายละเอียดต่างๆ อันเล่าขานถึงเรื่องราวของห้องเสื้อระดับตำนานแห่งถนนมงแตญในแต่ละยุคตามแนวทางของผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ และสร้างสรรค์แต่ละคน ถูกหลอมรวมเข้ากับแบบฉบับทางงานออกแบบของคิม โจนส์ในคอลเลกชันครบรอบการทำงานห้าปีของเขาที่ DIOR อีกครั้งที่มิติทรงแบบต่างๆ จากสมัยของอีฟส์ แซงต์ โลรองต์ถูกผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์นำมาใช้เป็นต้นแบบสำคัญของบรรดาเสื้อผ้าฤดูร้อนโดยอาศัยการรังสรรค์ และดัดแปลงให้มีความสดใหม่ ร่วมสมัย ประวัติศาสตร์ของแผนกเครื่องแต่งกายชายสะท้อนตัวผ่านบทบรรจบระหว่างความเป็นผู้ชายกับความเป็นผู้หญิงโดยอาศัยเทคนิคการตัดเย็บชุดสูทบุรุษตามธรรมเนียมดั้งเดิมของอังกฤษ กับหลากวัสดุเลอค่าในการสรรค์สร้างชุดสูทสตรีของแผนกห้องเสื้อชั้นสูงฝรั่งเศส เพื่อแสดงให้เห็นว่าโลกของผู้ชายสืบรกรากมาจากศิลปะการตัดเย็บเครื่องแต่งกายสตรีได้อย่างไร

 

 

     ท่ามกลางเบ้าหลอมอิทธิพล และรายละเอียดจากอดีตถึงปัจจุบัน คือผลงานอันล้วนเต็มไปด้วยความกระฉับกระเฉง ให้ความคล่องตัว เต็มไปด้วยลูกเล่นทันสมัย มอบความสบายยามสวมใส่ และใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน วัฒนธรรมป๊อปคล้ายหยอกล้อกับเครื่องแต่งกายพิธีการ และเสื้อผ้าลำลองคือการผสมผสานความหรูหราเข้ากับเครื่องแบบทำงาน หรืองานออกแบบหลากประโยชน์ใช้สอย รูปลักษณ์เรียบง่ายของเครื่องแต่งกายชายที่เป็นภาพจำอย่างฮาร์ริงตัน (แจ็กเก็ตตัดเย็บจากผ้าน้ำหนักเบา ความยาวระดับเอว), เสื้อโปโล, เสื้อยืดคอกลม และคาร์ดิแกน (สเวตเตอร์ผ่าหน้าติดกระดุม) ต่างได้รับการดัดแปลงให้กลายเป็นเครื่องแต่งกายซึ่งมีความพิเศษเหนือธรรมดาด้วยการใช้หลากเทคนิคสัญลักษณ์เพื่อย้อนเวลาไปหาสไตล์เฉพาะตัวของ DIOR อย่างผ้าทวีด, งานปัก และลายสานหวาย

     อีกครั้งที่ศิลปะการตัดเย็บสูทสตรีของแซงต์ โลรองต์ถูกพลิกแพลงมาสู่เครื่องแต่งกายบุรุษด้วยลูกเล่นทางน้ำหนักทรวดทรง หรือสัณฐานความกว้าง, ร่องบาก ทั้งผ่าหลัง และผ่าข้าง, งานตีเกล็ด หรือจับจีบอัดพลีท รวมถึงรูปทรงวงคอที่เขาออกแบบไว้ระหว่างปี 1959 ในฤดูร้อนนี้ ทุกอย่างกลายเป็นสูทลำลองของผู้ชายสำหรับสวมใส่ร่วมกับเสื้อผ้าชิ้นต่างๆ รวมถึงโค้ทตัวยาว ในทางตรงกันข้าม รองเท้ากลับอาศัยแรงบันดาลใจจากกระเป๋าถือ LADY DIOR ปี 1995 โดยนำโลโก CD ทรงกลมมาปรับแบบใหม่ไว้ประดับกับพื้นรองเท้าขนาดหนาของโลเฟอร์ หรือรองเท้าหุ้มข้อไม่ผูกเชือก และรองเท้าแตะคาดแถบผ้าเครปตัวแทน “คลื่นลูกใหม่”

     ในขณะที่กระเป๋าทั้งหลายปรากฏในหลากรูปทรง, สีสัน และสารพันวัสดุต่างเนื้อสัมผัส จากกระเป๋าอานม้า (SADDLE) สีเรืองแสงสะดุดตาไปจนถึงกระเป๋าเอกสารไร้โครง (SATCHEL) เย็บตะเข็บกรุลายสานหวายสีน้ำตาลคอนญัค จากความหรูหราฟู่ฟ่ามาสู่ความเรียบขรึม สุขุมด้วยกระเป๋าเป้สะพายหลัง (RUCKSACK) ประกอบช่องใส่เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ใช้งานประจำวัน และกระเป๋าหนัง ROLLED SANDWICH สตีเฟน โจนส์ก็นำหมวกบีนนี (หมวกไหมพรมทรงเมล็ดถั่ว) เครื่องประดับแฟชันคลื่นลูกใหม่มาดัดแปลงเติมขอบปีกให้ดูคล้ายหมวกหัวเห็ด พร้อมกันนั้น ปมกุหลาบร้อยริบบินประดับหมวกตามธรรมเนียมนิยมดั้งเดิม กลับถูกแทนที่ด้วย “หรงฮวา” หรือ “ดอกพุดตาน” กำมะหยี่จากราชวงศ์ถังแห่งจีน (ระหว่างค.ศ. 618-907) ซึ่งถูกรังสรรค์ใหม่ในหลายเฉดสีจากการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างปรมาจารย์ช่างศิลป์ดอกพุดตานกำมะหยี่กับแผนกตัดเย็บของ DIOR เพื่อแปลงโฉมงานฝีมือตามขนบท้องถิ่นให้มีความสดใหม่ ทันสมัย อีกทั้งยังเป็นการยกย่องความงามสง่าในศิลปะการแต่งกายให้โดดเด่นเห็นชัดยิ่งกว่าเคย

บทความที่เกี่ยวข้อง