รีเซต

5 วิธีรักษา "สิว" ให้หายขาด ใช้ยารักษาสิวแบบไหนดี?

5 วิธีรักษา "สิว" ให้หายขาด ใช้ยารักษาสิวแบบไหนดี?
ไทยรัฐ
9 กุมภาพันธ์ 2562 ( 03:14 )
3.3K
5 วิธีรักษา "สิว" ให้หายขาด ใช้ยารักษาสิวแบบไหนดี?

ปัญหา "สิว" นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ผู้หญิงบางคนเป็นสิวน้อย ไม่รุนแรงมาก ก็อาจจะรักษาได้ง่ายและประหยัด แต่บางคนมีอาการสิวอักเสบรุนแรง ทำยังไงก็ไม่หายสักที งั้นก็คงต้องพึ่ง "ยารักษาสิว" แล้วละ ว่าแต่...การรักษา "สิว" มียาประเภทไหนบ้าง? แล้วถ้าไปพบแพทย์จะมีวิธีรักษา "สิว" ให้หายได้อย่างไร?

วันนี้ ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐ มีคำตอบเรื่องการรักษา "สิว" และยารักษาสิว มาบอกต่อ...

1. ยาทาสิว เจลแต้มสิว

ถ้าคุณเป็นสิวเพียงเล็กน้อย สามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ง่ายๆ โดยล้างหน้าให้สะอาด ไม่บีบ ไม่แกะสิว พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงอาหารหวานๆ มันๆ หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดสิว อาจทำให้สิวหายเองได้

แต่ถ้าคุณเป็นสิวค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะเป็นสิวอุดตัน การรักษาที่เหมาะสมคือการใช้ ยาทาสิว ที่ช่วยลดการอุดตัน เช่น ยาทาเบนซิลเปอร์ออกไซด์ หรือยาทากลุ่มกรดวิตามินเอ จะทำให้สิวหลุดออกได้ง่ายขึ้น ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของสิว ทำให้ผิวแห้ง ลดการสะสมน้ำมันในชั้นผิวหนัง ส่วนถ้ามีสิวหัวหนองขนาดเล็กๆ ก็อาจใช้ เจลแต้มสิว ที่มีตัวยาเบนซิลเปอร์ออกไซด์ได้ด้วยเช่นกัน

แต่ยาเหล่านี้หากใช้แบบผิดๆ อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ แนะนำว่าควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนังก่อนเริ่มใช้ยารักษาสิวประเภทนี้

2. ยากินรักษาสิว

สำหรับใครที่มีสิวในขั้นรุนแรง การดูแลตัวเองเบื้องต้น ร่วมกับทายาแต้มสิวอาจจะเอาไม่อยู่ คงต้องอัพเลเวลมาสู่วิธีรักษาสิวด้วยการรับประทานยาเม็ดรักษาสิว ซึ่งยากินรักษาสิวก็มีอยู่หลายแบบ ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังก่อนใช้ยากินรักษาสิว 

- ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม : ตัวยามีฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง ช่วยลดการผลิตน้ำมันใต้ชั้นผิวหนัง ลดการอุดตันในรูขุมขน (สาเหตุการเกิดสิว) แต่มีผลข้างเคียง คือ อาการปวดหัว คลื่นไส้ ปวดหน้าอก น้ำหนักเพิ่ม ฯลฯ

- ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย : ยานี้ช่วยลดผลกระทบจากการมีฮอร์โมนเพศชายสะสมที่ต่อมไขมันใต้ผิวมากเกินไป จนทำให้เกิดการผลิตน้ำมันใต้ผิวหนังมาก จนทำให้เกิดสิวได้ง่าย แต่อาจมีผลข้างเคียง เช่น อาการปวดเต้านม ปวดประจำเดือนมาก เป็นต้น

- ไอโซเตรติโนอิน : ยาอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ ใช้ในผู้ป่วยที่มีสิวอักเสบในระดับรุนแรงมากที่สุด และผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาสิวด้วยวิธีอื่นๆ โดยผู้ที่ใช้ยาต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพสูง เช่น เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า เสี่ยงต่อโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง และเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ที่จะพิการรุนแรงแต่กำเนิด

3. ยาฉีดสิว

ถัดมาเป็นการรักษาสิวด้วยการฉีดตัวยาไปที่สิวโดยตรง วิธีนี้ต้องทำการรักษาโดยแพทย์ผิวหนังเฉพาะทางเท่านั้น เหมาะกับการรักษาสิวประเภทสิวแดงก้อนลึกและสิวซีสต์ โดยแพทย์จะฉีดสเตียรอยด์ (Steroid) เข้าไปโดยตรงในบริเวณที่เป็นสิว ทำให้การบวมอักเสบของสิวหายไปโดยที่ไม่ต้องบีบสิวออกมา อาจมีผลข้างเคียง คือ ทำให้ผิวบาง อาจเห็นรอยเส้นเลือดใต้ผิวหนังได้

4. แสงรักษาสิว

แสงรักษาสิว Photodynamic Therapy (PDT) เป็นการฉายแสงเพื่อทำลายเชื้อแบคทีเรียต้นเหตุของการเกิดสิวอักเสบ เหมาะกับคนที่เป็นสิวอักเสบขั้นรุนแรง และสิวดื้อยา โดยแสงนี้มีความยาวคลื่นใกล้เคียงกับรังสีอัลตราไวโอเลตและแสงสีฟ้า  เมื่อเซลล์แบคทีเรียได้รับพลังงานที่สูงมากๆ เชื้อจะตายไป อีกทั้งยังช่วยลดความมันบนผิวไปพร้อมกันได้ด้วย

การฉายแสงต้องดำเนินการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อควบคุมคุณภาพและปริมาณของแสงให้เหมาะสม วิธีนี้อาจมีผลข้างเคียง คือ เจ็บผิวบริเวณที่ฉายแสง มีรอยแดง และผิวบริเวณที่ฉายแสงจะมีความไวต่อแสงแดด มีโอกาสแพ้แสงมากขึ้น

5. กดสิวและบำบัดผิว

อีกหนึ่งวิธีสำหรับการรักษาสิวประเภทสิวอุดตัน ก็คือ การกดสิวและบำบัดผิวด้วยทรีตเมนต์ ใช้ในกรณีที่รักษาด้วยยาแล้วสิวหัวดำและสิวหัวขาวยังไม่หมดไป โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือช่วยในการบีบเอาสิ่งที่อุดตันภายในสิวออกมา

ผลข้างเคียง คือ อาจเกิดร่องรอยหรือรอยแผลเป็นได้ จึงควรรักษาร่วมกับการบำบัดผิว เช่น ใช้กรดซาลิเซลิกเพื่อผลัดผิวชั้นนอกออกไป ลดการอุดตันของน้ำมันและเซลล์ผิวที่ตายแล้วในรูขุมขน และอาจใช้ครีมบำรุงผิวเข้มข้นร่วมด้วย

สาวๆ ที่กำลังหนักใจเรื่องปัญหา "สิว" ที่ทำยังไงก็ไม่หายสักที ลองศึกษาวิธีรักษาสิวด้วยยาจากข้อมูลที่เราเอามาแชร์นี้ แล้วไปพบแพทย์และรับยาแก้สิว ย้ำว่าต้องไปพบแพทย์ก่อนนะคะ เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง ตรงจุด และปลอดภัยค่ะ.


ที่มา : inderminderm2thaihealthpobpad

บทความที่เกี่ยวข้อง